"ไข้เลือดออก ภัยร้ายจากยุงลายในช่วงหน้าฝน"
โรคไข้เลือดออก เป็นโรคติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue) ซึ่งมียุงลายเป็นแมลงนำโรค เป็นโรคที่มีลักษณะที่แปรผันตามฤดูกาล โดยจะเริ่มมีแนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้นในเดือนเมษายน และสูงสุดในเดือนมิถุนายน - สิงหาคม ซึ่งเป็นฤดูฝน
อาการไข้เลือดออก แบ่งอาการของไข้เลือดออกได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้
#ระยะแรก เป็นระยะที่ผู้ป่วยจะมีไข้สูงประมาณ 5-7 วัน โดยอาจจะมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีผื่นหรือจุดแดงตามร่างกาย แขน ขา บางรายอาจจะเบื่ออาหาร และมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย
#ระยะวิกฤต : เป็นระยะที่ต้องระวังมากที่สุด ผู้ป่วยจะมีอาการเพลียและซึม ปัสสาวะออกน้อย มีอาการปวดท้องโดยเฉพาะบริเวณชายโครงขวา รวมถึงมีเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด หรืออุจจาระเป็นสีดำ ในระยะนี้ไข้จะเริ่มลดลง มือเท้าเย็น ความดันโลหิตต่ำ และอาจทำให้เกิดอาการช็อกจนเสียชีวิตได้
#ระยะฟื้นตัว : ในระยะนี้เป็นระยะที่คนไข้เริ่มมีอาการดีขึ้น ความดันโลหิตเริ่มกลับมาคงที่ ปัสสาวะออกมาขึ้น เริ่มกลับมามีความอยากอาหารมากขึ้น อาการปวดท้อง ท้องอืดลดลง และรู้สึกมีเรี่ยวแรงมากขึ้น โดยระยะเวลาทั้งหมดของไข้เลือดออกนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 7-10 วัน
โรคไข้เลือดออกนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยมีระยะอาการทั้งหมด 3 ระยะ คือ ระยะแรก ระยะวิกฤต และระยะฟื้นตัว ซึ่งการดูแลผู้ป่วยนั้นควรดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการช็อก ในกรณีที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการรุนแรงขึ้นก็ควรรีบพามาพบแพทย์เพื่อจะเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที
วิธีป้องกันไข้เลือดออก
1. ป้องกันตัวเอง
* สวมเสื้อผ้าที่มิดชิด
* นอนในห้องที่มีมุ้งหรือมุ้งลวดเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด
* ใช้ยาทากันยุงชนิดทาผิว
2. กำจัดแหล่งพาหะ
* ภาชนะเก็บน้ำต้องมีฝาปิดเสมอ
* เปลี่ยนน้ำในแจกัน หรือกระถางทุก 7 วัน
* ฉีดพ่นสารเคมีหรือยากันยุงเพื่อกำจัดยุงลายเต็มวัย
3. วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก
สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกนี้แนะนำให้ฉีดในรายที่เคยเป็นไข้เลือดออกแล้วเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำ ซึ่งจะลดความรุนแรงและได้ผลดีกว่า