PM2.5: ฝุ่นขนาดเล็กกับปัญหาขนาดใหญ่

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่า PM2.5 กลายเป็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในหลายพื้นที่ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย PM2.5 คืออะไร? ทำไมถึงเป็นอันตราย? และเราจะรับมือกับมันได้อย่างไร? บทความนี้จะให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่นละอองนี้และวิธีป้องกันตนเอง

 

PM2.5 คืออะไร?

PM2.5 ย่อมาจาก Particulate Matter 2.5 ซึ่งหมายถึงฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (เล็กกว่าความหนาของเส้นผมมนุษย์ประมาณ 30 เท่า) ฝุ่นเหล่านี้สามารถลอยอยู่ในอากาศและเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ได้อย่างง่ายดาย

 

อันตรายจาก PM2.5

เมื่อมนุษย์หายใจนำฝุ่น PM2.5 เข้าปอด ตัวฝุ่นสามารถทำให้เกิดปอดอักเสบได้ ส่งผลให้มีอาการไอเรื้อรัง จนอาจรุนแรงถึงขั้นไอเป็นเลือดได้ สำหรับผู้ป่วยโรคปอด ฝุ่นละอองนี้อาจกระตุ้นให้โรคปอด เช่น หอบหืด, ถุงลมโป่งพอง กำเริบ ซึ่งอาจมีอาการรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาลได้

 

นอกจากนี้ ฝุ่น PM2.5 ยังสามารถเข้าสู่กระแสเลือด สะสมในร่างกาย เพิ่มโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในระยะยาว และมีแนวโน้มเพิ่มโอกาสการเป็นมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งปอด

.

แหล่งที่มาของ PM2.5

แหล่งที่มาของ PM2.5 มีทั้งจากธรรมชาติ เช่น ฝุ่นดิน, ควันไฟป่า และแหล่งที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิง, การจราจร, อุตสาหกรรม

 

วิธีป้องกันตนเองจาก PM2.5

 

  •  ตรวจสอบค่าดัชนีคุณภาพอากาศและหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งเมื่อค่าฝุ่นละอองสูง
  • สวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่นอกอาคาร
  • ปิดบ้านให้มิดชิดเพื่อลดการเล็ดลอดของฝุ่น
  • ใช้เครื่องกรองอากาศในบ้าน และปิดประตูหน้าต่างเมื่อค่าฝุ่นละอองสูง

 

ด้วยความปรารถนาดีจากโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

บทความโดย: นพ. ณัฐชนน กุลสัมฤทธิ์ผล