ท้องเสียฉับพลัน: สิ่งที่คุณควรรู้และการดูแลเบื้องต้น

ท้องเสียฉับพลัน คือการถ่ายอุจจาระเหลวหรือถ่ายบ่อยกว่าปกติในช่วงระยะเวลาสั้นๆ มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือปรสิต รวมถึงปัจจัยอื่น เช่น อาหารเป็นพิษ หรือการแพ้อาหาร ภาวะนี้พบได้บ่อยในทุกกลุ่มอายุ และหากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่ภาวะขาดน้ำที่อันตรายได้

สาเหตุที่พบได้บ่อยของท้องเสียฉับพลัน

  1. การติดเชื้อ
    • เชื้อไวรัส: เช่น โนโรไวรัส (Norovirus) และโรตาไวรัส (Rotavirus)
    • เชื้อแบคทีเรีย: เช่น Salmonella, E. coli, Campylobacter และเชื้ออหิวาตกโรค (Vibrio cholerae)
    • เชื้อปรสิต: เช่น Giardia lamblia และ Entamoeba histolytica
  2. สารพิษตกค้างจากอาหารและน้ำที่ปนเปื้อน
  3. ???ารแพ้อาหารหรือยาบางชนิด

อาการที่พบได้บ่อย

  • ถ่ายอุจจาระเหลวบ่อยครั้ง (มากกว่า 3 ครั้งต่อวัน)
  • ปวดท้อง
  • คลื่นไส้หรืออาเจียน
  • มีไข้
  • อ่อนเพลีย หรือมีอาการแสดงของภาวะขาดน้ำ เช่น คอแห้ง ปากแห้ง หรือปัสสาวะลดลง

วิธีการดูแลตัวเองเบื้องต้น

DO: สิ่งที่ควรทำ

  1. ดื่มน้ำเกลือแร่ (ORS)
    ช่วยชดเชยการขาดน้ำและรักษาสมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย
  2. รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย
    เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก
  3. ทานยาลดไข้ (Paracetamol)
    เพื่อบรรเทาอาการ แต่หากไข้ไม่ลดใน 2-3 วัน ควรพิจารณาพบแพทย์
  4. หมั่นล้างมือให้สะอาด
    ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ
  5. พักผ่อนให้เพียงพอ
    เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นตัว

DON'T: สิ่งที่ไม่ควรทำ

  1. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์
    • เช่น ชา กาแฟ หรือสุรา เพราะมีฤทธิ์กระตุ้นลำไส้บีบตัว ทำให้อาการแย่ลงได้
  2. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมันหรือรสจัด
    • เช่น ของทอดหรืออาหารเผ็ด เพราะมีฤทธิ์กระตุ้นลำไส้บีบตัว ทำให้อาการแย่ลงได้
  3. หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยไม่มีคำแนะนำจากแพทย์
    • หลีกเลี่ยงการซื้อยาบางชนิดกินเอง เช่น ยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าเชื้อ), ยาหยุดถ่าย หรือยาแก้อักเสบ เพราะอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

เมื่อไหร่ควรพิจารณาพบแพทย์?

  • ถ่ายเป็นเลือดหรือมูก
  • ปวดท้องรุนแรง หรือกดเจ็บที่ท้อง
  • อาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน
  • มีอาการขาดน้ำรุนแรง เช่น อ่อนเพลียรุนแรง ปัสสาวะไม่ออก

การป้องกันท้องเสียฉับพลัน

  • ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร
  • รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่
  • ดื่มน้ำดื่มสะอาด

ด้วยความปรารถนาดีจากโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

 

บทความโดย: นพ.ณัฐชนน กุลสัมฤทธิ์ผล